การละเล่นของไทย

การละเล่นของไทย

การเล่นกับเด็กเป็นของคู่กันมาตั้งแต่กาลครั้งไหน คงไม่มีใครทราบได้ แต่การเล่นก็เป็นเรื่องที่สืบ เนื่องแสดงถึงเอกลักษณ์ของชนชาติหรือท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดเข้าสู่กระแสชีวิตและตกทอดกันมาตั้งแต่ รุ่นปู่ย่าตายายของปู่ย่าตายายโน่น เอาตั้งแต่เมื่อเราเกิดมาลืมตาดูโลกก็คงจะได้เห็นปลาตะเพียนที่ผู้ใหญ่แขวน ไว้เหนือเปลให้เด็กดู เล่น เป็นการบริหารลูกตา แหวกว่ายอยู่ในอากาศแล้ว พอโตขึ้นมาสัก 3-4 เดือน ผู้ใหญ่ก็จะสอนให้เล่น จับปูดำ ขยำปูนา แกว่งแขนอ่อน เดินไว ๆ ลูกร้องไห้ วิ่งไปวิ่งมา โดยที่จะคิดถึงจุดประสงค์อื่นใดหรือไม่สุดรู้ แต่ผลที่ตามมานั้นเป็นการหัดให้เด็กใช้กล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อแขนประสานกับสายตา
การละเล่นเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเป็นกิจกรรมที่แฝงไว้ ด้วยสัญลักษณ์ หากศึกษาการเล่นของเด็กในสังคม เท่ากับได้ศึกษาวัฒนธรรมของสังคมนั้นด้วย การละเล่นของเด็กไทย มีความหลากหลาย เช่น หมากเก็บ ว่าว โพงพาง รีรีข้าวสาร เป็นต้น
การละเล่นของเด็กแบบไทย ๆ มีมาตั้งแต่เมื่อไร
ชนชาติไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไร การละเล่นแบบไทย ๆ ก็น่าจะมีมาแต่เมื่อนั้นแหละ ถ้าจะเค้นให้เห็นกันเป็นลายลักษณ์อักษร ก็คงต้องขุดศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มาอ้างพอเป็นหลักฐานได้ราง ๆ ว่า
“..ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน...”
ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีการกล่าวถึงการละเล่นของคนสมัยนั้นว่า
“...เดือนยี่ถึงการพระราชพิธีบุษยาภิเษก เถลิงพระโค กินเลี้ยงเป็นนักขัตฤกษ์ หมู่นางในก็ได้ดูชุดชักว่าวหง่าวฟังสำเนียง เสียงว่าว ร้องเสนาะลั่นฟ้าไปทั้งทิวาราตรี...”
ในสมัยอยุธยา บทละครกรุงเก่าได้กล่าวถึงการละเล่นบางอย่างที่คุณคงจะคุ้นเคยดีเมื่อสมัยยังเด็ก คือลิงชิงหลักและปลาลงอวน ในบทที่ว่า
เมื่อนั้น โฉมนวลพระพี่ศรีจุลา ว่าเจ้าโฉมตรูมโนห์รา มาเราจะเล่นกระไรดี เล่นให้สบายคลายทุกข์ เล่นให้สนุกในวันนี้ จะเล่นให้ขันกันสักทีเล่นให้สนุกกันจริงจริง มาเราจะวิ่งลิงชิงเสา ช้างโน้นนะเจ้าเป็นแดนพี่ ช้างนี้เป็นแดนเจ้านี้ เล่นลิงชิงเสาเหมือนกัน ถ้าใครวิ่งเร็วไปข้างหน้า ถ้าใครวิ่งช้าอยู่ข้างหลัง เอาบัวเป็นเสาเข้าชิงกัน ขยิกไล่ผายผันกันไปมา
เมื่อนั้น
โฉมนวลพระพี่ศรีจุลา บอกเจ้าโฉมตรูมโนห์รา มาเราจะเล่นปลาลงอวน บัวผุดสุดท้องน้องเป็นปลา ลอยล่องท่องมาเจ้าหน้านวลจะขึงมือกันไว้เป็นสายอวน ดักท่าหน้านวลเจ้าล่องมา ออกหน้าที่ใครจับตัวได้ คุมตัวเอาไว้ว่าได้ปลา
ในเรื่อง
อิเหนา วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏการละเล่นหลายอย่าง เช่น ตะกร้อ จ้องเต ขี่ม้าส่งเมือง ดังว่า
“...บ้างตั้งวงเตะตะกร้อเล่น
เพลาเย็นแดดร่มลมสงัด
ปะเตะโต้คู่กันเป็นสันทัด
บ้างถนัดเข้าเตะเป็นน่าดู
ที่หนุ่มหนุ่มคะนองเล่นจ้องเต
สรวลเสเฮฮาขึ้นขี่คู่
บ้างรำอย่างชวามลายู
เป็นเหล่าเหล่าเล่นอยู่บนคิรี

หรือในขุนช้างขุนแผนกก็กล่าวถึงการละเล่นไม้หึ่งไว้ว่า

“...เมื่อกลางวันยังเห็นเล่นไม้หึ่ง
กับอ้ายอึ่งอีดูกลูกอีมี
แล้วว่าเจ้าเล่าก็ช่างนั่งมึนมี
ว่าแล้วซิอย่าให้ลงในดิน


ประเภทของการละเล่น
เนื่องจากการละเล่นของไทยเรานั้นมีมากมายจนนึกไม่ถึง (กรมพลศึกษารวบรวมไว้ได้ถึง 1,200 ชนิด) แต่พอจะแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ คือ การละเล่นกลางแจ้ง และการละเล่นในร่ม และในแต่ละประเภทก็ยังแบ่งย่อยอีกเป็นการละเล่นที่มีบทร้องประกอบ กับที่ไม่มีบทร้องประกอบ
การละเล่นกลางแจ้งที่มีบทร้องประกอบได้แก่ โพงพาง เสือไล่หมู่ อ้ายเข้อ้ายโขง ซ่อนหาหรือโป้งแปะ เอาเถิด มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร ที่มีคำโต้ตอบ เช่น งูกันหาง แม่นาคพระโขนง มะล็อกก๊อกแก็ก เขย่งเก็งกอย ที่ไม่มีบทร้องประกอบ ได้แก่ ล้อต๊อก หยอดหลุม บ้อหุ้น ลูกดิ่ง ลูกข่าง ลูกหิน เตยหรือตาล่อง ข้าวหลามตัด วัวกระทิง ลูกช่วง ห่วงยาง เสือข้ามห้วยเคี่ยว เสือข้ามห้วยหมู่ ตี่จับ แตะหุ่น ตาเขย่ง ยิงหนังสะติ๊ก ปลาหมอ ตกกะทะ ตีลูกล้อ การเล่นว่าว กระโดดเชือกเดี่ยว กระโดดเชือกคู่ กระโดดเชือกหมู่ ร่อนรูป หลุมเมือง ทอดกะทะ หรือหมุนนาฬิกา ขี่ม้าส่งเมือง กาฟักไข่ ตีโป่ง ชักคะเย่อ โปลิศจับขโมย สะบ้า เสือกันวัว ขี่ม้าก้านกล้วย กระดานกระดก วิ่งสามขา วิ่งสวมกระสอบ วิ่งทน ยิงเป็นก้านกล้วย การละเล่นในร่มที่มีบทร้องประกอบ ได้แก่ ขี้ตู่กลางนา ซักส้าว โยกเยก แมงมุม จับปูดำขยำปูนา จีจ่อเจี๊ยบ เด็กเอ๋ยพาย จ้ำจี้
ที่ไม่มีบทร้องประกอบ ได้แก่ ดีดเม็ดมะขามลงหลุม อีขีดอีเขียน อีตัก เสือตกถัง เสือกันวัว หมากกินอิ่ม สีซอ หมากเก็บ หมากตะเกียบ ปั่นแปะ หัวก้อย กำทาย ทายใบสน ตีไก่ เป่ากบ ตีตบแผละ กัดปลา นาฬิกาทางมะพร้าว กงจักร ต่อบ้าน พับกระดาษ ฝนรูป จูงนางเจ้าห้อง การเล่นเลียนแบบผู้ใหญ่เช่นเล่นเป็นพ่อเป็นแม่ เล่นแต่งงาน เล่นหม้อข้าวหม้อแกง แคะขนมครกเล่นขายของ เล่นเข้าทรง ทายคำปริศนา นอกจากนั้นยังมีทบร้องเล่น เช่น จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกงแกง....และบทล้อเลียน เช่น ผมจุก คลุกน้ำปลา เห็นขี้หมานั่งไหว้กระจ๊องหง่อง เป็นต้น การละเล่นที่เล่นกลางแจ้งหรือในร่มก็ได้ที่ไม่มีบทร้อง ได้แก่ ลิงชิงหลัก ขายแตงโม เก้าอี้ดนตรี แข่งเรือคน ดมดอกไม้ปิดตาตีหม้อ ปิดตาต่อหาง โฮกปี๊บ เป่ายิงฉุบ
เด็กแต่ละภาคเล่นเหมือนกันหรือไม่
เนื่องจากในแต่ละภาคมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ สภาพแวดล้อม ทำให้การละเล่นของเด็ก แต่ละภาคมีความแตกต่างกันไปบ้างในเรื่องของบทร้องประกอบการละเล่น กติกา และอุปกรณ์การละเล่น แต่โดยส่วนรวมแล้วลักษณะการเล่นจะคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่
ความแตกต่างในเรื่องของบทร้องประกอบการละเล่น
การละเล่นซึ่งมีบทร้องประกอบ บางอย่างมีลักษณะคล้ายกันหรือเหมือน ๆ กัน แต่บทร้องจะแตกต่างไปตามภาษาท้องถิ่น และเนื้อความซึ่งเด็กเป็นผู้คิดขึ้น เช่น การละเล่นจ้ำจี้ หรือ ปะเปิ้มใบพลูของภาคเหนือ จ้ำมู่มี่ของภาคอีสาน และจุ้มจี้ของภาคใต้บทร้องจ้ำจี้ภาคกลางมีหลายบท แต่บทที่เป็นที่เด็กภาคกลางร้องกันเป็น เกือบทุกคนคือ


จ้ำจี้มะเขือเปราะ กะเทาะหน้าแว่น

พายเรือออกแอ่น กระแท่นต้นกุ่ม
สาวสาวหนุ่มหนุ่ม อาบน้ำท่าไหน
อาบน้ำท่าวัด เอาแป้งที่ไหนผัด เอากระจกที่ไหนส่อง
เยี่ยม ๆ มอง ๆ นกขุนทองร้องวู้
ปะเปิ้มใบพลูของเด็กเหนือ เป็นการละเล่นเพื่อเสี่ยงทาย เลือกข้าง ผู้เล่นนั่งล้อมวงกัน วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้นคนละมือ คนหนึ่งในวงจะร้องว่า
ปะเปิ้มใบพลู คนใดมาจู เอากูออกก่อน
หรือ จำปุ่นจำปู ปั๋วใครมาดู เอากูออกก่อน
หรือ จ้ำจี้จ้ำอวด ลูกมึงไปบวช สึกออกมาเฝียะอีหล้าท้องป่อง
จ้ำมู่มี่ของเด็กอีสาน เล่นทำนองเดียวกับจ้ำจี้ของภาคกลาง แต่ถ้าคำสุดท้ายไปตกที่ผู้ใดผู้นั้นต้องเป็นคนปิดตานับหนึ่งถึงยี่สิบ แล้วคนอื่นไปซ่อน เป็นการผนวกการละเล่นซ่อนหาเข้ามาด้วย บทร้องจ้ำมู่มี่มีทั้งสั้นและยาว
อย่างสั้นคือ
จ้ำมู่มี่ มูหมก มูมน หักขาคนใส่หน้านกก๊ด หน้าลิง หน้าลาย หน้าผีพราย หน้าหยิบ หน้าหย่อม ผอมแปํะอย่างยาว คือ จ้ำมู่มี่ มูมน หักคอคนใส่หน้านกก๊ด หน้าลิง หน้าลาย หน้าผีพราย หน้าจิ๊ก หน้าก่อ หน้าหย่อมแยะ แม่ตอและ ตอหาง ตอไก่ แล้วไปฝึก ไปฟัน ให้เวียงจันทน์ คือแหวนข้างซ้ายย้ายออกตอกสิ่ว ลิวเปี๊ยะ ฉี่ไก่เปี๊ยะ ติดหางนกจอก แม่มันบอก ไก่น้อยออกซะ
การละเล่นจุ้มจี้ของเด็กภาคใต้ ก็เพื่อจะเล่นซ่อนหาเช่นกัน โดยคนที่เหลือเป็นคนสุดท้ายจากการละเล่นจุ้มจี้ จะเป็นผู้ผิดตาหาเพื่อน ๆ
เพลงที่ร้องประกอบมีหลายบท แตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น จะยกตัวอย่างมา 2 บทดังนี้
จุ้มจี้จุ้มปุด จุ้มแม่สีพุด จุ้มใบหร้าหร้า พุทราเป็นดอก หมากงอกเป็นใบ พุ้งพิ้งลงไป ว่ายน้ำตุกติก
จุ้มจี้จุมจวด จุ้มหนวดแมงวัน แมงภู่จับจันทน์แมงวันจับผลุ้ง ฉีกใบตองมารองข้าวแขก น้ำเต้าแตกแหกดังโผลง ช้างเข้าโรง อีโมงเฉ้ง แม่ไก่ฟักร้องก๊อกก๊อก ทิ่มคางคก ยกออกยกออก
อุปกรณ์การละเล่นของแต่ละท้องถิ่น
ในแต่ละท้องถิ่น เด็ก ๆ จะคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ประกอบการละเล่นหรือทำของเล่นขึ้นมาเอง โดยนำวัสดุที่มีตามธรรมชาติหาได้ใกล้ตัวมาใช้ เช่น

เด็กภาคเหนือ จะนำมะม่วงขนาดเล็กที่กินไม่ได้มาร้อยเชือกแล้วใส่เดือย นำมาใช้ตีกันเรียกว่าเล่นไก่มะม่วง
หรือนำเอาไม้เล็ก ๆ มาเล่นกับลูกมะเขือ หรือมะนาวเรียกว่า หมากเก็บ
ไม้หรือไม้แก้งขี้ เล่นเก็บดอกงิ้ว ซึ่งคนเล่นจะรอให้ดอกงิ้วหล่น ใครเห็นก่อนก็ร้อง
อิ๊บมีสิทธิ์ได้ดอกงิ้วดอกนั้นไปร้อยใส่เถาวัลย์ ใครได้มากที่สุดก็ชนะ
เล่นบ่าขี้เบ้าทรายก็ใช้ทรายปนดินที่นำมาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ มากลิ้งในร่องซึ่งขุดกันริมตลิ่งแม่น้ำนั่นเอง ของเล่นที่ทำกันก็เช่น
·กล้องกบ ใช้ลำไม้ไผ่มีรูกลวงเล็ก ๆ และไม้แกนซึ่งเหลาพอดีกับรูไม้ เอาใบหญ้าขัด (ขัดมอน) นั้นเป็นก้อนยัดลงไปในรูกระบอก เอาแกนแยงจนสุดลำแล้วใส่ก้อนหญ้าอีกก้อน เอาแกนแยงเข้าไปอีกหญ้าก้อนแรกก็จะหลุดออกพร้อมกับเสียงดังโพละก้อนหญ้านี้อาจใช้ลูกหนามคัดเค้า หรือมะกรูดลูกเล็กแทนได้
·ลูกโป่งยางละหุ่ง ใช้ยางที่กรีดจากต้นละหุ่งหรือจากการเด็ดใบ หาอะไรรองน้ำยางไว้ แล้วเอาดอกหญ้าขดเป็นวงจุ่มน้ำยางให้ติดขึ้นมา ค่อย ๆ เป่าตรงกลางบ่วงดอกหญ้า ยางละหุ่งจะยืดและหลุดเป็นลูกโป่งสีรุ้งแวววาว ลอยไปได้ไกลๆ แล้วไม่แตกง่ายด้วย
ของเล่นเด็กภาคอีสาน เล่นข้าวเหนียวติดมือ โดยเอาข้าวเหนียวมาปั้นจนได้ก้อนเท่าหัวแม่มือ แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ให้ฝ่ายเริ่มเล่นส่งข้าวเหนียวต่อ ๆ กันโดยใช้มือประกบจนครบทุกคนแล้วให้อีกฝ่ายทายว่าข้าวเหนียวอยู่ในมือใคร
·ดึงครกดึงสาก เอาเชือกมาพันครกตำข้าว ปลายเชือก 2 ข้างผู้ไว้กลางด้ามสาก แต่ละข้างมีผู้ถือสาก 4 คน แล้วออกแรงดึงพร้อม ๆ กัน ฝ่ายใดร่นมาติดครกถือว่าแพ้
·แมวย่องเหยาะ ใช้ก้านมะพร้าวหรือก้านตาลเหลาให้เป็นเส้นเล็ก ๆ เอามาหักแล้วต่อเป็นรูปแมวย่องเหยาะ (ดังรูป) แล้วให้ผู้เล่นฝ่ายแรกเริ่มเล่นโดยใช้มือจับส่วนใดส่วนหนึ่งของแมว โดยไม่ให้อีกฝ่ายเห็น แล้วให้อีกฝ่ายทายว่าจับตรงไหน ก่อนทายจะมีคนบอกใบ้ให้ เช่น ถ้าจับตรงหัวก็แกล้งเอามือเกาหัว ถ้าทายผิด 3 ครั้ง ก็แพ้ไป
·เล่นหมากพลู นำหมาก ปูน แก่นคูน ยาเส้น มาตั้งข้างหน้าผู้เล่นเป็นกอง ๆ ให้ผู้เล่นคนแรกส่ายมือเหนือสิ่งของที่กองไว้เร็ว ๆ อีกฝ่ายหนึ่งบอกชื่อสิ่งของ 10 อย่าง คนส่ายมือก็ตะครุบของสิ่งนั้นทันทีตะครุบผิด ก็ถูกทำโทษโดนเขกเข่า
ของเล่นของเด็กภาคใต้ ทางภาคใต้ของธรรมชาติที่เด็กนำมาเล่นกันมากคือมะพร้าวลูกยาง (พารา) และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ซึ่งหาง่ายมีทุกจังหวัด
·ของเล่นจากมะพร้าว ได้แก่ ชนควายพร็อกพร้าว อุปกรณ์การเล่นคือควาย พร็อกพร้าว โดยใช้เปลือกมะพร้าวทำลำตัว กะลามะพร้าวทำเขา และเม็ดมะกล่ำดำทำตา ทำเสร็จแล้วจะได้รูปแบบนี้คนเล่นจะทำควายพร็อกพร้าวมาคนละตัว แล้วมางัดกัน โดยใช้มือจับลำตัวควายหันหน้าคว่ำลงให้เขาทาบกับพื้น งัดไปงัดมา ของใครหักคนนั้นก็แพ้
·ถีบลูกพร้าว ใช้มะพร้าวแก่จัดไม่ปอกเปลือก 1 ผล ผู้เล่นแบ่งเป็นสองกลุ่ม จับไม้สั้นไม้ยาวหรือใช้วิธี ชันชีเพื่อหากลุ่มผู้ถีบผลมะพร้าวกลุ่มแรก เมื่อเริ่มเล่นให้ทั้งสองกลุ่มยืนเป็นวงกลมหันหน้าเข้าหากันโดยยืนสลับกัน นำผลมะพร้าววางกลางวงวางกันมะพร้าวลงดิน จากนั้นผู้เล่นทั้งหมดจับมือกันให้แน่น ถ้าคนเล่นมี 6 คน 3 คนจะถีบยับผลมะพร้าว อีก 3 คนเป็นหลัก ถ้าฝ่ายถีบมีใครล้มก้นแตะพื้นก็แพ้ ให้ฝ่ายเป็นหลักมาถีบแทน
·ร่อนใบพร้าว นำใบมะพร้าวที่ยังติดก้านมาตัดให้ด้านที่มีก้านโตเสมอกัน ใช้มือฉีกใบมะพร้าวออกให้มีขนาดเท่ากัน วิธีเล่นคือจับใบมะพร้าวชูขึ้นเหนือไหล่ จับส่วนที่เป็นใบซึ่งฉีกออกแล้วขว้างไปสุดแรง ใบมะพร้าวก็จะหลุดออกจากก้าน ใครขว้างได้ไกลที่สุดก็เป็นผู้ชนะ
·ของเล่นจากลูกยาง ชักลูกยาง นำลูกยาง (พารา) มาเจาะเอาเนื้อออกหมด เจาะรูด้านบนด้านล่างและด้านข้าง ใช้ไม้ไผ่เหลาแล้วผูกติดกับเชือกด้ายสอดไม้ไผ่เข้าไปในเมล็ดยางทางรูด้านบนหรือด้านล่าง ดึงเชือกด้ายออกมาทางรูด้านข้าง ติดไม้ไผ่แบน ๆ ทางด้านบน 1 ชิ้น เมื่อจะเล่นหมุนแกนให้เชือกด้ายม้วนเข้าไปอยู่ในลูกยางจนเกือบสุด ดึงปลายเชือกแรง ๆ แล้วปล่อย แกนไม้ไผ่ก็จะหมุนไปหมุนมาตามแรงดึง ผู้เล่นต้องดึงและปล่อยกลับอยู่เรื่อย ๆ จะทำให้แกนและไม้ไผ่แบน ๆ ด้านบนกระทบกันของใครไม้ไผ่หลุด คนนั้นก็แพ้
·ตอกเมล็ดยางพารา สถานที่เล่นควรเป็นพื้นไม้หรือซีเมนต์ ผู้เล่นมี 2 คน จับไม้สั้นไม้ยาวเพื่อหาฝ่ายตั้งและฝ่ายตี ฝ่ายตีจะนำเมล็ดยางของฝ่ายตั้ง ตั้งลงกับพื้น แล้วนำเมล็ดยางของตัวเองวางข้างบนของฝ่ายตั้ง ใช้มือข้างหนึ่งจัดเมล็ดยางทั้งสองซ้อนกัน มืออีกขัางกำหรือแบตามถนัดตอกลงบนเมล็ดยางที่ซ้อนอยู่ ถ้าของฝ่ายใดแตก ฝ่ายนั้นก็แพ้
·เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เล่นฟัดราว ต้องมีราวรางบนไม้หลักหรือกะลา มะพร้าวอย่างในรูป แล้วขีดเส้นเรียกว่า น้ำสำหรับ ฟัดหรือขว้างระยะห่างไม่ใกล้ไม่ไกลนักแล้วผู้เล่นก็จะตกลงกันว่าจะลงหัวครก (เมล็ดมะม่วงหิมพานต์) คนละกี่ลูก แล้วเอาหัวครกทั้งหมดที่ลงกองกลางมาเรียงบนราว จากนั้นก็ผลัดกันยืนที่เส้น น้ำแล้ว ฟัด” (ขว้าง) หัวครก เมล็ดไหนตกพื้น คนฟัดก็ได้ไป เล่นจนกว่าจะเบื่อ เมื่อเลิกก็เอา หัวครกที่ได้ใส่กระเป๋ากลับบ้าน หรือจะเผากันกันตรงนั้นเลยก็ได้
คุณค่าของการละเล่นไทย
การละเล่นของไทย เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพื้นบ้านเท่า ๆ กันกับเป็นการสะท้อนวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และเนื่องจากเป็นการ เล่นซึ่งผู้ใหญ่บางคนอาจไม่เห็นคุณค่า นอกจากเห็นว่าเป็นแค่เพียงความสนุกสนานของเด็ก ๆ หนำซ้ำการละเล่นบางอย่างยังเห็นว่าเป็นอันตราย และเป็นการบ่มเพาะนิสัยการพนันอีก เช่น ทอยกอง หว่าหากจะมอง วิเคราะห์กันอย่างจริงจังแล้ว คุณค่าของการละเล่นของไทยเรานี้มีนับเอนกอนันต์ ดังจะว่าไปตามหัวข้อ
ต่อไปนี้
ประโยชน์ทางกาย
อันได้จากการออกกำลังทั้งกลางแจ้งและในร่ม เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ เล่น จับปูดำ ขยำปูนาหรือ โยกเยกเอย น้ำท่วมเมฆเด็กก็จะได้หัดใช้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ในตัวพร้อมกับทำท่าให้เข้ากับจังหวะ พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะชอบเล่นกลางแจ้งกับเด็กคนอื่น ๆ เป็นกลุ่มเล็กบ้างใหญ่บ้าง เช่น ขี่ม้าก้านกล้วย ตาเขย่ง ตีลูกล้อ วิ่งเปี้ยว ขี่ม้าส่งเมือง ตี่จับ เตย ฯลฯ การละเล่นบางอย่างมีบทร้องประกอบทำให้สนุกครึกครื้นเข้าไปอีก อย่าง รีรีข้าวสาร โพงพาง มอญซ่อนผ้า อ้ายเข้อ้ายโขง งูกินหาง นอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้วยังได้ฝึกความว่องไว ฝึกความสัมพันธ์ของการเก็งจังหวะแขนเท้า เช่น กาฟักไข่ ได้ฝึกการใช้ทักษะ ทางตาและมือในการเล็งกะระยะ เช่น การเล่นลูกหิน ทอยกอง
·ฝึกความสังเกต ไหวพริบ และการใช้เชาวน์ปัญญา จากการละเล่นหลายชนิดที่ต้องชิ่งไหวชิงพริบกันระหว่างการต่อสู้ เช่น การเล่นกาฟักไข่ ผู้ขโมยจะหลอกล่อชิงไหวชิงพริบกับเจ้าของไข่ ซึ่งต้องคอยระวัง คาดคะเนไม่ให้ใครมาขโมยไข่ไปได้ หรือการเล่นแนดบกของทางเหนือ ผู้เล่นจะรู้สึกสนุกกับ การล่อหลอกแนดให้มาแตะ แล้วตัวเองต้องไวพอที่จะวิ่งเข้าวงก่อน การเล่นเตยหรือ ต่อล่อง คนล่องก็จะหลอกล่อให้ผู้กั้นเผลอ เพื่อให้ฝ่ายตนไปได้และผู้กั้นก็ต้องคอยสังเกตให้ดีว่า ใครจะเป็นคนผ่านไป
·ฝึกวินัยและการเคารพต่อกติกา การละเล่นทุกอย่างมีกฏในตัวของมันเอง ซึ่งก็มาจากพวกเด็กนั่นเองเป็นคนช่วยกันกำหนดตกลงกันขึ้นมา การเล่นจึงดำเนินไปได้ โดยจะเห็นได้จากก่อนเล่นก็จะมีการจับไม้สั้นไม้ยาว เป่ายิงฉุบ จุ่มจะหลี้ (ของทางเหนือ คล้าย ๆ จ่อจีเจี๊ยบ) หรือ ฉู่ฉี้ (เป่ายิงฉุบของทางภาคใต้ มีปืน น้ำ ก้อนอิฐ แก้ว (น้ำ) หากใครไม่ทำตามกติกาก็จะเข้ากลุ่มเล่นกับเพื่อน ๆ ไม่ได้ เป็นการฝึกการปรับตัวเข้ากับคนอื่นโดยปริยาย
·ฝึกความอดทน เช่น ขี่ม้าส่งเมือง ผู้แพ้จะต้องถูกขี่หลังไปไหน ๆ ก็ได้ บางคนตัวเล็กถูกคนตัวใหญ่ขี่ก็ต้องยอม ถ้าไม่ทนก็เล่นกันไม่ได้ หรือเสือข้ามห้วย คนเป็น ห้วยต้องอดทนทำท่าหลายอย่างให้ผู้เป็น เสือข้าม บางครั้งต้องเป็น ห้วยอยู่นาน เพราะไม่มีเสือตัวใดตาย หรือหา เสือข้ามได้หมด ห้วยก็ถูกลงโทษ ถูก เสือหามไปทิ้งแล้ววิ่งหนี ห้วย
·ฝึกความสามัคคีในคณะ อย่างเช่น ตี่จับในขณะที่ผู้เล่นของฝ่ายหนึ่งเข้าไป ตี่เพื่อให้ถูกตัวผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วจะได้วิ่งกลับฝ่ายของตน โดยไม่ถูกจับเป็นเชลยนั้น ผู้เล่นอีกฝ่ายต้องพร้อมใจกันพยายามจับผู้เข้ามา ตี่ไว้อย่าให้หลุดมือ เพราะถ้าหลุดกลับไปฝ่ายของตน ผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องกลับไป เป็นเชลยทั้งกลุ่ม หรืออย่างชักคะเย่อ ผู้เล่นของแต่ละฝ่ายต้องพร้อมใจกันออกแรงกันสุดฤทธิ์สุดเดช เพื่อให้เครื่องหมายที่กึ่งกลางของเชือกเข้าไปอยู่ฝ่ายตน
·ฝึกความซื่อสัตย์ ผู้เล่นเป็นคนหาต้องผิดตาให้มิดในขณะที่คนอื่น ๆ วิ่งไปซ่อน อย่างคำร้องประกอบการเล่นชนิดนี้ว่า ปิดตาไม่มิด สารพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนา ได้ข้าวเม็ดเดียวหรือหมากเก็บอีตัก ถ้ามือของผู้เล่นไปแตะถูกก้อนหินหรือเม็ดผลไม้ก็ต้องยอม ตายให้คนอื่นเล่นต่อ แม้ว่าคนอื่นจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
·ฝึกความรับผิดชอบ การปฏิบัติตามกติกาไม่ว่าจะเป็นการเล่นอะไร ถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้เล่น เช่น เล่นหมุนนาฬิกา ผู้เล่นทุกคนต้องจับมือกันให้แน่นแล้วหงายตัว เอาเท้ายันกัน คนยืนสลับต้องจับมือคนหนึ่งให้แน่น ๆ แล้ววิ่งรอบ ๆ เป็นวงกลมเหมือนนาฬิกา ทุกคนจึงต้องรับผิดชอบจับมือหรือยันเท้าให้มั่น จึงจะหมุนได้สนุก
การละเล่นของเด็กไทยสะท้อนความเป็นไทย
การละเล่นของเด็ก บทร้องประกอบการเล่น ตลอดจนสิ่งต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ใช้เป็นของเล่นสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม และความเชื่อของคนไทยในสมัยก่อนได้อย่างชัดเจน เห็นภาพ ดังต่อไปนี้
·ภาพของเด็กไทยสมัยก่อน จากบทร้องล้อเลียน ผมจุก คลุกน้ำปลา เป็นขี้หมา นั่งไหว้ กระจ๊องหง่องหรือ ผมแกละ กระแดะใส่เกือก ตกน้ำตาเหลือก ใส่เกือกข้างเดียวก็ทำให้เห็นภาพเด็กสมัยโบราณที่ส่วนใหญ่ไว้ผมจุก ผมแกละกันทั้งเมือง
·ความเป็นอยู่ของผู้ใหญ่ จากบทร้องจ้ำจี้ สาวสาวหนุ่ม อาบน้ำท่าไหน อาบน้ำท่าวัดทำให้นึกภาพของบ้านเรือนสมัยโบราณซึ่งมักอยู่กันริมน้ำ อาบน้ำกันที่ท่า สัญจรกันด้วยเรือเป็นส่วนใหญ่ หรือการละเล่นชนควายด้วยศรีษะ ชนควายพร็อกพร้าว เป็นการเลียนแบบการชนควายชนวัวซึ่งเป็นที่นิยมกันมากทางภาคใต้ ส่วนทางภาคอีสานก็มีการละเล่นดึงครกดึงสาก ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในการทำมาหากินเพื่อดำรงชีพของชาวนา เป็นต้น
·สะท้อนการทำมาหากินของคนไทย มีการละเล่นและบทร้องประกอบการละเล่นหลายอย่างที่กล่าวถึงข้าววัวควายที่ช่วยไถนาและการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของคนไทยตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน อย่าง รีรีข้าวสาร การเล่นขโมยลักควาย (ทางใต้) นอกจากทำนาแล้วยังมีการค้าขายจับปลา เช่น เล่นขายแตงโมซึ่งมีบทเจรจา ผู้เล่นสมมติ เป็นแตงโม มีผู้มาซื้อและพูดกับเจ้าของ โพงพาง มีบทร้องที่ว่าปลาตาบอดเข้าอดโพงพางหรือผีสุ่ม กล่าวถึงการจับปลาโดยใช้สุ่ม
·ความเชื่อ การละเล่นบางอย่างสะท้อนให้เห็นความเชื่อของชาวไทยในเรื่องไสยศาสตร์ เช่นการละเล่นที่มีการเชิญคนทรงอย่าง แม่ศรี ลิงลม ย่าด้ง เป็นต้น ทางภาคอีสานจะมีการละเล่นที่สะท้อนความเชื่อหลายอย่างเช่น เล่นนางดงแล้วจะขอฝนได้สำเร็จ เล่นผีกินเทียนแสดงความเชื่อเรื่องผี มีทั้งกลัวและอยากลองผสมกัน หรือผีเข้าขวด ซึ่งมีทั้งภาคอีสานและทางภาคใต้ ทางอีสานก็มีเล่นแม่นาคพระโขนง และมะล๊อกก๊อกแก๊ก ซึ่งเป็นบทโต้ตอบระห่างผู้เล่นที่สมมุติ เป็นผีกับเด็กคนอื่น ๆ แล้วจบลงที่ผีวิ่งไล่จับเด็กเป็นผีกับเด็กคนอื่น ๆ แล้วจบลงที่ผีวิ่งไล่จับเด็เป็นที่น่าสนุกสนานและ ตื่นเต้นด้วยความกลัวผีไปพร้อม ๆ กัน
·ค่านิยม ในเรื่องของมารยาท ถือว่าคนมีมารยาทเป็นคนมีบุญ คนที่มารยาททรามเป็นคนอาภัพ ดังในคำร้องจ้ำจี้ว่า
จ้ำจี้เม็ดขนุน ใครมีบุญได้กินสำรับ
ใครผลุบผลับ ได้กินกะลา (หรือกินรางหมาเน่า)”

เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว มีบทร้องว่าลูกเขยต้องกตัญญูต่อแม่ยาย ในบทเล่นจ้ำจี้อีกบทว่า
จ้ำจี้ดอกเข็ม มาเล็มดอกหมาก
เป็นครกเป็นสาก ให้แม่ยายตำข้าว
เป็นน้ำเต้า ให้แม่ยายเลียงชด
เป็นชะมด ให้แม่ยายฝนทา ฯลฯ
ค่านิยมที่แม่มีลูกชายก็พาไปบวช ถือเป็นกุศลแก่คนเป็นแม่ว่า

จ้ำจี้จ้ำจวด พาลูกไปบวชถึงวัดถึงวา ฯลฯ
การยกย่องขุนนางว่าเป็นผู้ได้ผลประโยชน์กว่า ว่า
ซักส้าวเอย มะนาวโตงเตง
ขุนนางมาเอง มาเล่นซักส้าว
มือใครยาว สาวได้สาวเอา
มือใครสั้น เอาเถาวัลย์ต่อเข้า
คุณค่าทางวรรณศิลป์



บทร้องประกอบการละเล่นของเด็กไทย หากไม่อยู่ในรูปของฉันทลักษณ์ ก็จะมีคำคล้องจองกันอยู่ในรูปของฉันลักษณ์ ก็จะมีคำคล้องจองกันมีสัมผัสนอกสัมผัสใน เท่ากับเป็นการแทรกซึมวิสัยความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กตัวน้อยกันเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นของภาคกลาง

ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งในแต่ละภาคก็จะสอดแทรกภาษาท้องถิ่นของตนเข้าไปด้วยนอกจากนั้นมีการเลียนเสียงต่าง ๆ หรือออกเสียงแปลก ๆ ซึ่งทำให้เด็ได้ฝึกลิ้น เช่น
เลียนเสียงนก
จ้ำจี้เม็ดขนุน...นกขุนทองร้องวู้
เลียนเสียงกลอง
ผมเปียมาเลียใบตอง พระตีกลอง ตะลุ่มตุ่มเม้ง

เลียนเสียงร้องไห้
ขี้แย ขายดอกแค ขายไม่หมดร้องไห้แงแง

คำแปลก ๆ มักจะปรากฎบ่อยมาก แม้ว่าจะไม่มีความหมายแต่ฟังแล้วก็รู้สึกสนุก ทำให้เด็กชอบ
เช่น เท้งเต้ง” “โตงเตงโตงเว้า” “กระจ๊องหง่อง” “ออระแร้ ออระชอน” “มะล้อกก๊อกแก๊ก” “จีจ่อเจี๊ยบไ ตะโลนโพนเพน” “ตุ๊ยตู่ ตุ๊มเดี่ยว

บางบทใช้ภาพพจน์ทำให้เกิดความงามในภาษา เช่นบทร้องของทางใต้บทหนึ่งว่า
เชโคโยย่าหนัด ฉัดหน้าแข้ง เดือนแจ้ง ๆ มาเล่นเชโชค

ทร้องบาทบทใช้คำท่เป็นสัญลักษณ์แฝง ความหมายในแง่เพศสัมพันธ์ เช่น
จ้ำจี้มะเขือพวง เมียน้อยเมียหลวง
มากินก้ามกุ้ง ก้ามกุ้งร้องแง้
มาสอยดอกแค มาแหย่รูปู
อีหนูตกระได กลางคืนเมาเหล้า
เตะหม้อข้าวปากปิ่น หม้อข้าววิ่งหนี
สาระพีเล่นกล กระจ่าสวดมนต์
รับศีลรับพระ
คุณค่าในการใช้ภาษาสื่อสาร
เป็นที่น่าสังเกตว่าบทร้องและบทเจรจาโต้ตอบนั้นมีคุณค่าในการสื่อสารอยู่มาก กล่าวคือ ทำให้เด็ก ๆ ได้คุ้นเคยกบคำที่ใช้เรียกชื่อ หรือใช้บอกกริยาอาการต่าง ๆ ช่วยให้เด็กได้มีพัฒนาการทางภาษาโดยไม่รู้ตัว ในบทเจรจาโต้ตอบก็เป็นคำถาม คำตอบสั้นๆ มีเนื้อความเป็นเรื่องเป็นราวเป็นคำพูดในชีวิตประจำวันบ้าง ดังในบทเล่นแม่งูหรือแม่งูสิงสางของภาคเหนือ บักมี่ดึงหนังของภาคอีสาน หรือฟาดทิงของทางใต้

บทโต้ตอบบักมี่ดึงหนัง
ถาม ขอกินบักพ่าวแน (มะพร้าว)
ตอบ ยังบ่ได้ต่อย (สอย)
ถาม ขอกินกลอยแน
ตอบ บ่ทันได้นึ่ง
ถาม ขอกินบักมี่สุกแน
ตอบ หน่วยใดสุกเอาเลย

บทโต้ตอบฟาดทิง
แม่ทิง มาแต่ไหน
ผู้เล่น มาแต่เผาถ่าน
แม่ทิง เผาถ่านทำไหร (ทำอะไร)
ผู้เล่น เผาถ่านตีเมด (มีด)
แม่ทิง ตีเมดทำไหร
ผู้เล่น ตีเมดทำไหร
ผู้เล่น ตีเมดเหลาหวาย
แม่ทิง เหลาหวายทำไหร
ผู้เล่น เหลาหวายสานเชอ (กระเชอ)
แม่ทิง สานเชอทำไหร
ผู้เล่น สานเชอใสทิง
แม่ทิง ทิงไหน
ผู้เล่น ทิงนั่นเเหละ (ชี้ไปที่แม่ทิง)
การใช้ภาษาในการเล่นทายปริศนา
ปริศนาหรือคำทายต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ชอบเล่นทายกันนั้นวิเคราะห์ได้ว่า เป็นวิธีการที่ส่งเสริมพัฒนาการทางความคิดสัมพันธ์กับการใช้ภาษาทั้งนี้เพราะปริศนาก็คือ การตั้งคำถามให้เด็กคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเคยพบ เคยห็นมา ใครช่างสังเกตรู้จักคิดเปรียบเทียบความหมายของคำทายกับสิ่งที่ตนเคยพบเห็น ก็สามารถทายถูก ความสนุกจากการทายถูกจะเป็นแรงจูงใจให้เด็กพยายามใช้ความสังเกตควบคู่ไปกับการใช้ภาษาเพิ่มขึ้น เช่น

อะไรเอ่ย เรือนสองเสา หลังคาสองตับ นอนไม่หลับลุกขึ้นร้องเพลง
คำตอบ ไก่ขัน
อะไรเอ่ย ซื้อมาเป็นสีดำ นำไปใช้กลายเป็นสีแดง พอสิ้นแรง กลายเป็นสีเทาต้องเอาไปทิ้ง
คำตอบ ถ่าน
(ภาคเหนือ) ตุ้มกุ๋บขึ้นดอย ก้าบฝอยล่องห้วย (หลังนูน ๆ ขึ้นดอย ครบฝอยไปตามลำธาร)
คำตอบ เต่าและกุ้ง
(ภาคใต้) พร้าวเซกเดียวอยู่บนฟ้า คนทั้งพาราแลเห็นจบ
คำตอบ พระจันทร์เสี้ยว

(ภาคอีสาน) ช่างขึ้นภู ต๊บหูปั๊ว ๆ แมนหญัง (ช้างขึ้นภูเขา ตบหูปั๊ว ๆ อะไรเอีย)
คำตอบ หูกทอผ้า
นับวันการละเล่นของไทยจะหายไป
นี่คือความเป็นจริงที่น่าเสียดายเช่นเดียวกับประเพณีของไทยอีกหลาย ๆ อย่าง ซึ่งจะอยู่ยงคงได้ก็ต่อเมื่อคนไทยเท่านั้นที่รับสืบทอดมาปฏิบัติ โดยมิอาจจะอนุรักษ์เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ดังเช่น วัตถุโบราณได้ เมื่อยุคสมัยผันแปรไป ค่านิยม ความเป็นอยู่ก็เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีการดำรงชีวิตในอดีตอย่างมากมาย
น่าเสียดายที่ว่าในปัจจุบันของเล่นต่าง ๆ มากมายทั้งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ได้เข้ามาแทนที่การละเล่นต่าง ๆของสมัยก่อนซึ่งแทบจะไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย หรือถ้ามีก็จะเป็นอุปกรณ์การเล่นที่นำมาจากธรรมชาติ หรือของใช้ในครัวเรือน หรือไม่ก็คิดประดิษฐ์กันเอาเองไม่ต้องซื้อหา
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ โทรทัศน์ และวิดีโอ ซึ่งเด็กสมัยนี้ติดกันมาก แทบจะแกะตัวออกมาจากหน้าจอไม่ได้ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงมีร่างกายกระปรกกระเปรี้ย สายตาสั้นพัฒนาการทางภาษาไม่กว้างไกล นี่ยังไม่นับเด็กอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นหรืออย่างเข้าวัยรุ่นที่กำลังหลงแสงหลงเสียงเพลงในตลับ ซึ่งภาษาในเนื้อเพลงแทบจะหาคุณค่าทางวรรณศิลป์ไม่เจอเอาเสียเลย
เป็นเรื่องน่าคิดว่า สิ่งที่เข้ามาแทนที่ของเก่านั้น ผู้เป็นพ่อแม่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กไทยทั้งหลายได้เลือกสรรสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์แก่เด็กอย่างแท้หรือไม่
ทัศนะต่อการละเล่นของเด็กไทย

พต.หญิง คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ ผู้ก่อตั้งโครงการเผยแพร่เอกลักษณ์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นท่านผู้หนึ่งที่ทำการวิจัย และรวบรวมการละเล่นของเด็กภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กรุณาให้ทัศนะถึงเรื่องนี้ว่า
ประโยชน์ของการเล่นไม่ใช้แค่ให้เติบโตแข็งแรง มันยังให้ความรับผิดชอบ การรักษาระเบียบวินัย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เรากำลังไขว่คว้าหากันอยู่ การเล่นจะทำให้เกิดความเคารพกติการ รู้แพ้ รู้ชนะ ฝึกจิตใจให้เป็นคนดี และได้หัดภาษาไทยด้วย การเล่นของเด็กไทยโบราณก็นำมาใช้ได้ดีกับเด็กยุคนี้ เพราะมันเล่นที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องใช้ที่กว้างก็ได้ วัสดุการเล่นก็ใช้ตามท้องถิ่นได้สบาย แต่การเล่นบางอย่างที่มีการพนันด้วยก็ไม่ดี อย่างโยนหลุม ทอยกอง หรือยิงหนังสติ๊ก มันก็อันตราย ต้องระวัง
เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ไปเล่นเพลง เล่นเทปกันหมด นอนฟังในห้อง ไม่ค่อยจะไปไหน แล้วยังทีวี วิดีโอ พ่อแม่ก็ปรนเปรอให้ เลยไม่รู้จักการเล่น ไปเพลิดเพลินกับเสียงแสงสีเสียงหมด การเล่นกลางแจ้งกายไป ความจริงการเล่นกลางแจ้งมีประโยชน์มาก มันได้อากาศบริสุทธิ์ อวัยวะต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวเติบโต ผู้ใหญ่ก็เล่นได้ ดิฉันนี่เล่นจนถึง ม.8 เลย อย่างวิ่งเปี้ยว วิ่งสามขา วิ่งกระสอบ สะบ้า สนุกมาก
และอีกทัศนะหนึ่งจาก
ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพลศึกษา กรมพลศึกษากระทรวงศึกษาธิการว่า
ในหลักสูตรชั้นประถมมีการละเล่นคละกันทั้งไทย และที่ดัดแปลงจากต่างประเทศ ของไทยก็มีตั้งแต่ วิ่งวัวเป็นตัน แต่จะไม่เป็นรูปแบบที่เป็นทางการ มีเพื่อให้เด็กสนุกได้ออกกำลัง และเพื่ออนุรักษ์การเล่นของเก่าให้คงอยู่
สาเหตุที่การละเล่นของไทยเสื่อมความนิยมไปก็เนื่องมาจากการมีกีฬาสากลเข้ามาเล่นกันมาก และมีการส่งเสริมแข่งขันจนเป็นที่แพร่หลายกว่า
บ้านเมืองเจริญขึ้น คนต้องต่อสู้กับเศรษฐกิจโอกาสที่จะเล่นก็น้อยลงไม่มีหน่วยงานใดรับผิดขอบในการอนุรักษ์เรื่องนี้โดยตรง
เด็กไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯเรียนหนักขึ้นแข่งขันกันมากขึ้น มีการเน้นการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ จนไม่สนใจการเล่น
คนไทยใช้เวลาพักผ่อนกับการดูทีวี วิดีโอ หรือฟังวิทยุกันมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย
และการเล่นแบบไทย ยังไม่ได้จัดเข้าระบบการแข่งขันแบบสากลมันจึงไม่เร้าใจ ไม่สามารถจะอยู่คงทนต่อไปได้ หากมีการอนุรักษ์เป็นประเพณีท้องถิ่นก็จะอยู่ได้ถาวร
การละเล่นของไทยเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นไทย ถ้าไม่มีการเล่นกันต่อไปมันก็จะสูญ ถ้าไม่มีการกระตุ้น สนับสนุน ต่อไปก็จะไม่เหลือ เราต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรมันจึงจะแพร่หลาย
ขอขอบพระคุณ : พต.หญิงคุณหญิง ผอบโปษะกฤษณะ ประธานอนุกรรมการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทยที่กรุณาให้คำแนะนำปรึกษารวมทั้งเอกสารประกอบการค้นคว้า และสไลด์ภาพประกอบการละเล่นของเด็กไทย
: คุณจิตรลดา ทัชชะวณิช หัวหน้าบรรณารักษ์ห้องสมุดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่กรุณาอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าเรื่องการละเล่นของเด็กไทยนี้
คำอธิบายศัพท์


กระจ่า
(ดู จ่า)
กระชัง
เครื่องมือเลี้ยงหรือขังสัตว์น้ำ มักผูกขนาบข้างด้วยทุ่น มีทั้งรูปกลม เหลี่ยมมีขนาดใหญ่เล็กตามต้องการ
กระชอน
กรองกะทิ สิ่งที่ใช้แยกกากมะพร้าว-น้ำกะทิ ลักษณะค่อนข้างโปร่ง และมีไม้พาดขอบภาชนะ
กระด้ง
ลักษณะแบนกลม สำหรับร่อน แยกสิ่งของ หรือใช้วางสิ่งของตากแดดตากลม
กระดิ่ง
โลหะมีลูกกระทบ ทำให้เกิดเสียง ใช้บอกสัญญาณ ต่าง ๆ
กระต่าย
ขูดมะพร้าว ลักษณะคล้ายม้านั่งปลายติดเหล็กหยักแหลมสำหรับครูดเอาเนื้อมะพร้าวออกมาเป็นเส้น ๆ ฝอยเหตุที่เรียกว่ากระต่าย เข้าใจว่าเดิมทำเป็นรูปกระต่าย บางท้องถิ่นทำเป็นรูปแมวหรือจระเข้ เป็นต้น
กระติบข้าว
ภาชนะสานลักษณะสูง มีฝาปิด สำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เชือกห้อยสำหรับสะพาย


กระบอกเสียบกระจ่า
ลำไม้ไผ่ เจาะช่องแขวนติดกับผนังหรือเสาในครัวไฟสำหรับเสียบกระจ่า


กระบุง
ภาชนะสาน ปากกลม ก้นเหลี่ยม มีความลึกมักใช้ใส่สิ่งของหาบสะพาย
กระบุง
เมืองแพร่ กระบุงมีลักษณะป้อมกลม เก็บขอบในตัว


กระเป๋ากะเหรี่ยง
ภาชนะสาน มีฝาปิด มีเชือกผูก สำหรับสะพายใช้ในหมู่ชาวกะเหรี่ยง


กระสวย
เครื่องมือสำหรับพุ่งสอดด้าย สอดประสานกับด้ายยืนโดยมีหลอดด้ายอยู่ภายในกระสวย
กระออม
ภาชนะจักสาน ทึบ ยาร่องมิดชิด มีหูหิ้ว ใช้ตักน้ำ
กร่ำ
การเอากิ่งไผ่สุมกันไว้ให้ดูรก หรือปลูกพืชน้ำต่าง ๆ สุมกันไว้ เพื่อพรางปลาว่าเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ ทิ้งไว้ให้ปลามาชุมนุม กันมากพอแล้วจึงเอาตะแกรงหรือเฝือกรุกไล่จับเอาไว้ใช้จับปลา
กรบ
เครื่องมือแทงสัตว์น้ำ รูปร่างคล้ายแหลนสามเส้า
กรอนอ
ภาชนะสานด้วยใบมะพร้าว สำหรับใส่หญ้าให้วัวกิน พบใช้แถบหมู่บ้านมุสลิมภาคใต้
กลองแอว
กลองหน้าเดียว มีขนาดยาวมาก พบใช้ในพิธีแห่ครัวทานทางภาคเหนือ


ก๋วยตีนจ๊าง
(ดู สลากเล้า)
ก่องข้าว
ภาชนะสาน กษณะแบนกลมรี มีฝาปิด สำหรับใช่ข้าวเหนียวนึ่ง พบใช้ทางภาคเหนือกล่องใส่เมล็ดพันธุ์พืช ภาชนะเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช มีฝาปิดอย่างมิดชิด
กะโบม
ภาชนะไม้ คล้ายถาดขนาดใหญ่ สำหรับผึ่งข้าวเหนียวที่นึ่งสุกร้อน ๆ ให้คลายไอร้อนออก ก่อนบรรจุในภาชนะ พบใช้ทางภาคอีสาน
และภาคเหนือซึ่งเรียกกัวะข้าว
กะพ้อม
( ดู พ้อม)
กะเหล็บ
ภาชนะสาน มีฝาปิด สำหรับใส่เสื้อผ้า พบใช้ในพิธีแต่งงานของชาวโซ่ง
กุ๊บ
หมวก รูปกลม ปีกกว้างรูปวงหลม ยอดแหลม มีรังหมวก พบใช้ทางภาคเหนือ
เก็บเกี่ยว
การ ใช้เคียวเกี่ยวข้าว เมื่อข้าวสุกเหลืองอร่ามทั้งทุ่ง
เกราะ
เครื่องตีกระทบ ทำจากลำไผ่กลวง มีลูกเสียงกระทบอยู่ภายใน แขวนไว้ที่คอสัตว์เลี้ยง
เกวียน
พาหนะทำด้วยไม้ ลากจูงด้วยวัวควาย เป็นพาหนะในสมัยที่ยังไม่มีรถยนต์ใช้
เกวียนควาย
เกวียนขนาดใหญ่ พบใช้ทางภาคตะวันออกของประเทศแถบชลบุรี ปราจีนบุรี เป็นต้น
เกวียนวัว
เกวียนขนาดย่อมกว่าเกวียนควาย พบใช้ทั่วไป แทบทุกท้องถิ่นของประเทศ
แกะ
เครื่องมือเกี่ยวข้าว มีลักษณะการเก็บคล้ายเด็ดข้าวทีละรวงมิใช่จับรวมเป็นกำ (แบบที่ใช้กับเคียวทั่วไป) ใช้ทางภาคใต้ และพบว่าชาวเขา ทางเหนือใช้เช่นกัน
กี่ทอผ้า
เครื่องใช้ในการทอผ้า มีส่วนประกอบมากมาย มักพบวางตามใต้ถุนเรือน เพราะเป็นภารกิจสำคัญของผู้หญิงในชนบท
ขลุ่ย
เครื่องดนตรีชนิดเป่า โดยใช้นิ้ว 2 มือ กัก-ปลอย เสียงตามรูซึ่งเจาะอยู่ที่ตัวขลุ่ย
ขอฉาย
เครื่องมือเกี่ยวหรือพันเส้นฟางออกจากกองข้าวในลานนวด
ข้อง
เครื่องมือขังปลาหรือสัตว์น้ำเล็ก ๆ มักผูกติดเอวหรือสะพายเวลาหาปลา
ขันกะหย่อง
ภาชนะคล้ายกระจาดแต่มีเชิงสูง สำหรับใส่ดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ พบใช้แถบอีสาน
ขันหมากเบ็ง
(ดู ขันกะหย่อง) เหตุที่เรียกขันหมากเบ็ง เข้าใจว่าเพี้ยนมาจากขันหมากเบ็ญจ์ หรือขันเครื่องห้า หรือขันห้า อันประกอบด้วย หมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน
ข้าวตั้งรวง
ลักษณะที่ต้นข้าวสุกเหลืองอร่าม รอการเก็บเกี่ยว
ข้าวเบา
ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เป็นข้าวที่เห็นผลได้เร็ว
ข้าวหนัก
ข้าวที่ต้องรอเก็บเกี่ยวได้ในระยะยาวนานกว่าจะเก็บเกี่ยวได้
ครกตำข้าว
เครื่องมือขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นหลุม ขุดจากไม้ทั้งต้น สำหรับตำข้าวเปลือกแยกออกจากข้าวสารโดยใช้ไม้ตีหรือสากขนาดใหญ่
มักพบตามใต้ถุนเรือน ครัวไฟ บริเวณหนึ่งของครัวเรือน สำหรับใช้ประกอบอาหาร มักกรุฝาโปร่งเพื่อให้ควันไฟจากเตาถ่ายเทได้สะดวก
คราด
เครื่องมือซุยดิน ก่อนหว่านพืช มักใช้กับการทำนา
ควายนอก-ควายใน
ควายที่เทียมคู่กันด้านนอกและด้านใน ซึ่งหากมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งการเทียมโดยเอาควายตัวนอกไปไว้ที่ตำแหน่งควายตัวใน
จะทำให้เกิดความวุ่นวาย และควายอาจไม่เดินตามปกติก็ได้ เนื่องจากถูกฝึกมาให้เดินรอบนอก
ควายเหล็ก
ชื่อเรียกรถไถเหล็ก ทำหน้าที่แทนควายหรือวัว แต่ให้ผลิตผลได้รวดเร็วกว่า
คันฉาย
(ดูขอฉาย)
คันไถ
ส่วนประกอบส่วนหนึ่งของไถ อันเป็นเครื่องมือทำนาชนิดหนึ่ง ส่วนประกอบอื่น มีอาทิ หางยาม หัวหมู่ ผาล เป็นต้น
คุตีข้าว
เครื่องมือแยกเมล็ดข้าวเปลือกออกจากรวง โดยใช้การจับรวงข้าวฟาดที่คุ ซึ่งมีขนาดใหญ่และเมล็ดข้าวจะตกลงไปในคุโดยปริยายเป็นลักษณะการตีข้าวที่เคลื่อนย้ายเครื่องมือไปตามที่ต่าง ๆ ได้
เคียว
เครื่องมือตัดรวงข้าวออกจากต้นข้าว เมื่อข้าวสุกเหลืองแล้ว มีขนาดเล็กใหญ่ตามท้องถิ่น
เคียวเขมร
เคียวชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในหมู่ชาวไทยเชื้อสายเขมร มีด้ามยาว อ่อนโค้ง เครื่องมือกักขังปลา สำหรับเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำให้มีชีวิต ก่อนนำไปประกอบอาหารหรือขาย
เครื่องมือจับปลาซึ่งจับได้ทันที
เครื่องมือจับปลาที่ไม่ต้องรอเวลา แต่จะจับได้ทันที เช่น สุ่ม ตะแกรง
เครื่องมือจับปลาซึ่งต้องรอคอย
เครื่องมือจับปลาที่ต้องวางเครื่องมือดักไว้ เช่น ลอบ อีจู้ เป็นต้น
เครื่องหีบอ้อย
เครื่องมือรีดน้ำออกจากลำอ้อย ทำด้วยไม้โดยอาศัยอาการขบของฟันเฟื่อง
เครื่องอัดผ้า
เครื่องมือทำให้ผ้าเรียบโดยพับผ้าให้เรียบ ใช้น้ำหนักเหล็กกดทับทิ้งไว้
แคร่อยู่ไฟ
เตียงพักของผู้หญิงหลังคลอด โดยวางกระบะไฟไว้ข้างใต้ ใช้หลักว่าให้ความร้อนย่างมดลูกให้แห้ง
งาแซง
เครื่องมือสำหรับปิดปากเครื่องจับปลาหรือกักปลาก มีลักษณะคล้ายคล้ายกรวย เป็นต้น
จวัก
(ดู จ่า)
จ่า
เครื่องมือตักอาหาร มักทำจากกะลามะพร้าว มีด้ามยาว
จับปลา
การ วิถีการดำเนินชีวิตที่สำคัญของคนไทยตามชนบท
ช่องน้ำไหล
เป็นที่ที่ปลาหรือสัตว์น้ำไหลมา มักพบเครื่องมือจับปลาวางตามช่องทางน้ำไหลนี้
ชุด
เครื่องมือดักปลา ดักด้วยหวาย ลักษณะเป็นถุงขนาดลำตัวปลา โดยสังเกตวิสัยปลาที่จะไม่ถอย หลังและสร้างชุดให้มีขนาดใหญ่กว่าตัวปลาเล็กน้อย
เชี่ยนหมาก
ภาชนะบรรจุเครื่องกินหมาก อันประกอบด้วยหมากพลู ปูนแดง ยาฉุน ยาจืด ขี้ผึ้ง สีเสียด เป็นต้น
ซ่อน
เครื่องมือดักปลา ลักษณะและวิธีใช้คล้ายกับชุด คือขุดทางน้ำไหลแล้ววางเครื่องมือที่ปากช่องนั้น
ไซ
เครื่องมือดักปลา รูปร่างยาว ที่คอมีช่องดักปลาปิดด้วยงาแซง
ด้วงดักหน
เครื่องมือดักสัตว์บก เช่น หนู แย้
ตะเกียง
เครื่องใช้ที่ให้แสงสว่าง อาจวางตั้งหรือแขวนอยู่กับที่หรือถือหิ้วไป มีหลายลักษณะ เช่น ตะเกียงรั้ว
ตะแกรง
เครื่องมือจับปลาตามหนอง บึง มีความลึกมาก พบใช้ทางภาคอีสาน
ตะแกรงดักปลาไหล
เครื่องมือดักปลาไหล โดยใช้กร่ำเป็นพาหนะ
ตะแกรงเลี้ยงไหม
ตะแกรงตื้นขนาดใหญ่ มีช่องโปร่งกั้นแบ่งไปตามพื้นที่วงกลม สำหรับเลี้ยงตัวดักแด้
ตะข้อง
(ดู ข้อง)
ตะคัน
เครื่องมือให้แสงสว่าง ลักษณะเป็นจานก้นลึก ใส่น้ำมันแล้วเอาด้ายจุ่มในน้ำมันให้ปลายข้างหนึ่งพาดขอบปากจาน สำหรับจุดไฟ
ตะหวัก
(ดู จ่า)
ติหมา
(ดู หมา)
ตุ้ม
เครื่องมือดักปลา โดยวางเหยื่อล่อไว้ภายใน มีขนาดใหญ่ เล็ก ตามสภาพน้ำลึก ตื้น
ตุ้มลาน
เครื่องมือดักปลา วางติดพื้นท้องน้ำ เหมาะกับร้ำนิ่งที่ค่อนข้างรก
เตา
การสุมพืชผักที่มีรากยาว ๆ ให้หนาใหนหนองน้ำ แล้วปักไม้ยึกไว้มิให้ลอยเพื่อพรางให้ปลาเข้ามาอาศัยแล้วจึงใช้ตะแกรงจับ
เตาเชิงกราน
เตาชนิดหนึ่ง มีภาชนะคล้ายถาดติดตัวเตา ยื่นออกมาสำหรับวางฟืน
เตาสามเส้า
เตาในยุคเริ่มแรก เป็นความคิดง่ายๆ โดยนำหิน 3 ก้อนวางห่างกันพอเหมาะบนกระบะดินอัดแน่น
เตาอั้งโล่
เตาของชาวจีน ที่พัฒนาขึ้น มีรังผึ้ง และมีช่องระบายอากาศ
ตีขลุบ
ปรับพื้นที่นาดำให้ราบเสมอกัน เพื่อสะดวกแก่การปักดำ โดยใช้ลูกกลิ้งหรือลูกขลุบ
ตีเหล็ก
การแปรรูปโลหะสำคัญเป็นรูปต่าง ๆ ตามลักษณะใช้สอย เช่น เป็นมีด เป็นล้อเกวียน จัดเป็นวิทยาการสำคัญช่วงหนึ่งของสังคมมนุษย์ ที่ทำให้เครื่องใช้มีความคงทนแข็งแรงมากกว่าสร้างจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ และแสดงให้เห็นถึงการคิดต่อกับสังคมห่างไกลออกไป เนื่องจากแหล่งแร่ เหล็กมิได้มีกระจายอยู่ทั่วไป
ถัง
ภาชนะทำจากไม้เนื้อแข็ง รัดช่วงตัวด้วยโลหะเส้นแบน ใช้สำหรับตวงข้าวเป็นมาตรวัดโบราณ
ไถกลบ
ไถโดยให้ดินกลบทับบนเมล็ดพันธ์ข้าวที่หว่างลงไป หลังจากไถแปรแล้ว
ไถดะ
ไถลุยไปเป็นทางยาวตามแนวคันนา เป็นการไถเอาวัชพืชหรือพลิกหน้าดิน
ไถแปร
ไถขวางแนวรอยไถดะ เป็นการซุยดินหรือพลิกกน้าดินให้ถ้วนทั่วขึ้น
ทอผ้า
กิจกรรมสำคัญของผู้หญิงในสังคมที่มีการพึ่งพาตนเอง เพราะผ้าจัดเป็นปัจจัยสี่ของมนุษย์
ทาด-ทูน
สัญญาณเสียงจากผู้บังคับวัวหรือควายให้เลี้ยว พร้อมกระตุกเชือกที่ร้อยจมูกโยงมาผูกกับปลายง้อนของคันไถ เสียง ทาดหมายถึงการเลี้ยวซ้าย ส่วน ทูนคือการเลี้ยวขวา
ที่ตักขนมจีน
ภาชนะสานคล้ายจ่า สำหรับช้อนเส้นขนมจีนที่ต้มสุกแล้วขึ้นมาจับ
นาดข้าว
การแยกเมล็ดข้าวเปลือกออกจากรวง โดยใช้การย่ำนวดของวัวที่ผูกเป็นพวงการ
นาดำ
การทำนาในพื้นที่ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ต้องเพาะกล้าไว้ต่างหากแล้วจึงปักดำ เป็นแถวๆ ลงบนผืนนาที่ขังน้ำไว้แล้ว ต้นข้าวของนาดำจึงปักเรียงเป็นระเบียบกว่านาหว่าน
น้ำหว่าน
การทำนาในพื้นที่แล้งน้ำ โดยใช้อาการหว่านเมล็ดข้าวเปลือก ข้าวนาหว่านจึงงอกอย่างไม่เป็นระเบียบสม่ำเสมอเหมือนข้าวนาดำ
น้ำเต้า
ไม้ผลชนิดหนึ่ง นำมาคว้านเอาเนื้อในออกให้หมด ตากให้แห้ง รูปทรงของภาชนะเหมาะกับการบรรจุน้ำ และคอคอดก็เหมาะกับการเก็บรักษาน้ำ
ไน
เครื่องมือปั่นด้าย มิให้พันกันยุ่ง
ปี่กาน้า
เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งใช้เป่า ปากบาน มีรูเก็บกักเสียง
เปีย
เครื่องมือพันเส้นด้ายมิให้ยุ่ง โดยใช้เป็นแกนพัน ก่อนนำมาจับเป็นเข็ด
แปลงเพาะกล้า
พื้นที่นาซึ่งมักอยู่ไม่ไกลบ้าน และมีขนาดไม่ใหญ่นัก สำหรับเป็นแปลงเพาะต้นข้าวให้เจริญงอกงาม เพื่อนำไปปักดำในผืนนาใหญ่ต่อไป แปลงเพาะกล้านี้ต้องดูแลรักษาและทะนุถนอมอย่างดี
โปงลาง
เครื่องดนตรีประเภทตี ทางภาคอีสาน ลักษณะเป็นท่อนไม้ วางเรียงกันขึ้นไปผู้ตีจะนั่งตีไล่ลูกเสียงขึ้นลง มีลาย (ทำนอง) ต่าง ๆ
ผาล
เครื่องมือเหล็ก สำหรับเจาะพลิกหน้าดินโดยติดกับหัวหมูของคันไถ
ฝักมีด
เครื่องจักสาน สำหรับเก็บมีดยาว เพื่อป้องกันอันตรายจากคมมีด หรือสะดวกต่อการเหน็บติดตัวหรือสะพายกับตัว เมื่อต้องออกนอกบ้าน
ฝาสำหรวด
ฝาเรือนที่มีลักษณะโปร่ง เป็นลักษณะฝาขัดแตะที่ใช้ลำไผ่เป็นส่วนมากมักกรุฝาสำหรวดตรงบริเวณที่เป็นครัวไฟ เพื่อให้ควันไฟ ระบายออกได้สะดวก
เฝือก
เครื่องมือกั้นปลา สานด้วยไผ่ ลักษณะเป็นแผง โดยวางขวางลำน้ำ หรืออาจใช้ล้อมรุกสัตว์น้ำเป็นช่วง ๆ ไป เพื่อสะดวกแก่การจับ แต่โดยมากมักใช้กับลอบต่าง ๆ คือวางขวางลำน้ำเป็นปีก กั้นสัตว์น้ำให้เข้าสู่ลอบง่ายเข้า
พลั่วสาดข้าว
เครื่องมือตักข้าวเปลือก ลักษณะคล้ายช้อน แต่มีขนาดใหญ่และด้ามยาว
พลาสติก
วัสดุสังเคราะห์ที่เข้ามามีบทบาทแทนวัสดุจากธรรมชาติมากขึ้น จนทำให้เกิดมลภาวะ เพราะพลาสติกเสื่อมสลายได้ยากกว่าวัตถุทางธรรมชาติ
พวงสาว
ใช้สาวเส้นไหมขึ้นจากรังดักแด้ที่ต้มในหม้อ โดยตัวล่างของพวงสาวจะจับกันของปากหม้อ
พ้อม
ภาชนะสาน ยาช่องด้วยขี้วัว สำหรับเก็บรักษาเมล็ดข้าวเปลือก
ไม้คาน
ไม้ยาวสำหรับสอดหูกระบุง ตะกร้า หรือสาแหรก แล้ววางบนบ่า หาบไปตามที่ต่าง ๆ
ไม้รองตีข้าว
ไม้เนื้อแข็งสำหรับรองรับการฟาดรวงข้าว แยกเมล็ดข้าวเปลือกออกจากต้นข้าว
ไม้หนีบข้าว
ไม้ 2 ท่อน ผูกปลายด้วยเชือกหนัง สำหรับจับยึดฟ่อนรวงข้าวให้แน่น สะดวกแก่การจับฟาด
ระหัดวิดน้ำ
เครื่องมือวิดน้ำเข้านา หรือวิดออกจากนาหรือหนองน้ำ เพื่อสะดวกแก่การหาปลา
เรือนเครื่องผูก
เรือนชั่วคราวหรือเรือนของผู้มีฐานะไม่ร่ำรวย ใช้หวายผูกมัดยึดส่วนต่าง ๆ ของเรือน จึงเรียกเรือนเครื่องผูก
เรือนเครื่องสับ
เรือนถาวร เข้าของมักมีฐานะดี เป็นเรือนไม้เนื้อแข็ง ยึดติดกันได้จากการตอกลิ่มหรือ ทำตะปูไม้
ลอบ
เครื่องมือดักปลา ภายในลอบมีงาแซง 2 ชั้น คือส่วนกลางและส่วนหัว มักใช้ประกอบ กับเฝือก
ลันดักปลาไหล
เครื่องมือทำจากกระบอกไม้ สำหรับวางนอนกับพื้นดินรก ๆ หรือพื้นน้ำมีเหยื่อล่ออยู่ภายใน ดักได้ปลาไหล
ลานบ้าน
บริเวณที่ว่างรอบ ๆบ้าน ซึ่งมักใช้เป็นที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ประจำวัน เช่น ทอผ้า จักสาน ตำข้าว เป็นต้น
ลือซง
ครกตำข้าวของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้
สมุก
ภาชนะสำหรับใส่ของ มีฝาปิด มีขนาดเล็กใหญ่
สลากเล้า
กระเป๋าสาน สำหรับใส่เสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ มีฝาปิด มีหู พบใช้ทางภาคเหนือ
สาบ
เครื่องมือดักปลาที่ปากมีงาแซง เรียกสาบ เพราะวัสดุที่นำมาสานเป็นต้นสาบ
สาบ
ต้นพืช มีขนาดเท่าไม้ไผ่ ไม่มีปล้อง พบมากแถบเชิงเขาพนมดงรัก และเขาพนมรุ้งมีความงามและทนทานไม่แพ้ต้นไผ่
สีข้าว
เครื่องแยกเมล็ดข้าสารออกจากเปลือก โดยใช้หลักการขบของฟันเฟือง ทำให้เปลือกหุ้มแตกออก
สุ่มปลา
เครื่องมือจับปลา ปากล่างกว้าง สำหรับครอบหรือสุ่มปลา ปากบนเป็นวงกลมขนาดย่อม สำหรับเอามือล้วงลงไปหยิบปลา ซึ่งหากปลาติดสุ่มจะว่ายเสียงดังกุกกักอยู่ภายในสุ่มทำให้รู้ว่าปลาติด
เสาเกียด
หรือหลักเกียด ปักกลางลานนวดข้าวใช้ผูกวัวพวง ย่ำนวดข้าวในลาน มักตกแต่งเสาเกียดอย่างสวยงามด้วยรวงข้าว
หมาหรือติหมา
เป็นภาษาท้องถิ่นแถบชายแดนภาคใต้ หมายถึงภาชนะตักน้ำ ทำจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ใบจาก ใบหลาวโอน เป็นต้น
หินบด
เครื่องบดให้ละเอียด ส่วนมากใช้บดเครื่องสมุนไพร เครื่องเทศ โดยใช้อาการเบียดบดของหินจากแรงมือ
อิ้ว
เครื่องมือแยกฝ้ายออกจากเมล็ด
อีจู้
เครื่อมือดักปลา โดยใส่เหยื่อล่อไว้ภายใน
อีเป็ด
(ดูข้องเป็ด)
แอก-อ้อม
เครื่องมือเทียมวัวหรือควาย เป็นไม้วางขวางคอวัว
แอบข้าว
ภาชนะสานสำหรับเก็บข้าวเหนียวนึ่ง มีลักษณะแบนรี มีฝาครอบ ตัวฝาสูงเท่าตัวภาชนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น